แนวทางการเลือกใช้เครื่องมือและวิธีสำรวจภูมิประเทศ


โดยทั่วไปจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวในการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือ (เช่น เทป, Total Station, RTK, Laser) หรือวิธีการสำรวจ (เช่น cross-section, grid matrix, random) เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา รวมถึงอัตราการทำงาน และค่าใช้จ่าย แต่ก็สามารถใช้ปัจจัยหลัก ๆ ที่ว่ามาเป็นข้อพิจารณาได้ ดังนี้

ขนาดของโครงการ งานที่มีขนาดเล็ก เช่น การให้แนวทำสนามตะกร้อ เหมาะที่ใช้เทปวัดระยะในการทำงาน การเลือกใช้ Total Station หรือ RTKจะดูเหมือนมากเกินไป แต่ในกรณีสำรวจรายละเอียดบนพื้นที่ขนาดใหญ่หลายไร่ก็จำเป็นต้องใช้ครื่องมือที่ให้อัตราการผลิตที่สูงมากขึ้น เช่น Total Station หรือ RTK

ความซับซ้อนของโครงการ ในกรณีที่ความต้องการข้อมูลมีเฉพาะค่าระดับพื้นดิน การบันทึกข้อมูลสำรวจโดยใช้สมุดสนามอาจจะเพียงพอ แต่ในกรณีที่จะต้องสำรวจระดับข้อมูลภูมิประเทศหลายประเภท และอาจจะต้องจัดเก็บข้อมูลคุณลักษณะ (attribute data) ของข้อมูลภูมิประเทศแต่ละประเภทด้วย การใช้เครื่องมือที่มีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบเชิงเลข ทำงานในลักษณะ “field-finish” อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

ทำเลของโครงการ สภาพพื้นที่กันดาร ห่างไกล หรือพื้นที่เป็นอันตราย จำเป็นจะต้องกำหนดชนิดเครื่องมือที่ใช้เป็นพิเศษ และพื้นที่ทำงานที่ต้องใช้เวลาการเดินทางไกลหรือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้าเท่านั้นจะเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อค่าใช้จ่าย
ข้อจำกัดระยะเวลาโครงการ ถ้าระยะเวลาโครงการเป็นข้อจำกัด จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือที่มีอัตราการผลิตสูง เช่น Total Station ปฏิบัติงานด้วยเทคนิค “field-finish” บางกรณีที่ข้อมูลที่ต้องสำรวจมีลักษณะเป็นโครงสร้างซับซ้อนจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือประเภท Laser การเร่งงานจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ข้อจำกัดงบประมาณโครงการ ข้อจำกัดงบประมาณอาจเป็นอุปสรรคต่อการเลือกใช้เทคนิค Laser ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หรือต้องการลดค่าใช้จ่ายบุคลากรจำเป็นจะต้องใช้คนเพียงคนเดียวในการทำงานก็จำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือประเภท robotic total station
ความประสงค์ของผู้ขอรับบริการ ในบางกรณีผู้ขอรับบริการมีความประสงค์ที่จะให้ผู้สำรวจดำเนินการสำรวจด้วยวิธีและข้อกำหนดการเก็บข้อมูลตามที่ผู้ขอรับบริการกำหนด
ข้อกำหนดความถูกต้องของโครงการ ข้อกำหนดความถูกต้องจะเป็นกรอบให้ผู้สำรวจจะต้องเลือกใช้เครื่องมือ หรือวิธีการสำรวจที่สอดคล้องกับเกณฑ์ตามข้อกำหนด กรณีที่ข้อกำหนดมีเกณฑ์ความถูกต้องที่สูงจะทำให้ค่าใช้จ่ายโครงการสูงตามไปด้วย

ความหนาแน่นของต้นไม้ บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นจะเป็นข้อจำกัดในการเลือกใช้ RTK ถ้าพื้นที่มีต้นไม้ปกคลุมแต่ไม่หนาแน่นมากผู้สำรวจอาจเลือกใช้เป้าสะท้อนที่เพิ่มความยาวได้ในการเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว

ความหนาแน่นของพืชปกคลุมดิน เครื่องมือประเภท Laser/LIDAR ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่มีพืชปกคลุมดินหนาแน่นได้ ผู้สำรวจอาจจำเป็นจะต้องแผ้วถางเป็นแนวแล้วจึงสำรวจด้วย Total Station หรือ RTK

ความต้องการรายละเอียดข้อมูลสาธารณูปโภคเหนือพื้นดินและใต้ดิน เครื่องมือประเภท Total Station เป็นเครื่องมืออาจถูกพิจารณาว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสำรวจข้อมูลสาธารณูปโภคที่มีความซับซ้อน ในกรณีที่จะต้องวาดรูปร่างข้อมูลรายละเอียดประกอบควรเลือกใช้คอมพิวเตอร์ Notebook ชนิด Pen Tablet บันทึกข้อมูลสนาม

ข้อมูลสำรวจมีความสูง การสำรวจข้อมูลที่มีความสูงมีความยุ่งยากกว่าปกติโดยเฉพาะกรณีที่จำเป็นจะต้องอาศัยการปีนป่ายเพื่อเข้าถึงจุดสำรวจ ลักษณะเช่นนี้เกิดได้กับการสำรวจสาธารณูปโภคที่มีความซับซ้อนเ ช่น แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งยากที่จะวางตำแหน่งเป้าสะท้อนหรือจานรับสัญญาณ GPS ในจุดที่ต้องสำรวจ การสำรวจข้อมูลลักษณะเช่นนี้เป็นปัจจัยหลักที่จะคำนึงถึงในการประมาณการแผนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีพืชคลุมดินหนาแน่นในบริเวณเดียวกันอยู่ด้วย การใช้เครื่องมือประเภท Reflectorless Total Station อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้

ความหนาแน่นข้อมูลระดับพื้นดินที่ต้องการ ตามปกติความลาดชันของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดความแน่นความข้อมูลระดับ ในบางกรณีผู้ขอรับบริการอาจจะกำหนดมาให้ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้ข้อความว่า “… จะต้องสำรวจจุดระดับทุก ๆ …” ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับการใช้ความลาดชันเป็นเกณฑ์ การสำรวจข้อมูลระดับให้มีความหนาแน่นเพียงพอ ผู้สำรวจควรจะต้องคำนึงถึงช่วงชั้นความสูงที่จะต้องแสดงในแผนที่ และวัตถุประสงค์การนำข้อมูลไปใช้เป็นสำคัญ เช่น ผลการสำรวจเกี่ยวข้องกับการคำนวณดินขุดดินถม เป็นต้น

การมีอยู่ของเครื่องมือ องค์กรผู้ให้บริการงานสำรวจโดยทั่วไปมิได้มีเครื่องมือสำรวจครบทุกเทคโนโลยีเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน องค์กรขนาดเล็กอาจจะมีเฉพาะ Total Station โดยไม่ได้ลงทุนจัดหาเครื่องมือประเภท RTK ซึ่งมีราคาแพง
Powered by MakeWebEasy.com