เมื่อคุณคิดที่จะเลือกเรียนเกี่ยวกับช่างสำรวจ

ช่างสำรวจ Surveyor
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ ผู้ควบคุมและทำการสำรวจพื้นดินและท้องน้ำ เพื่องานทำแผนที่หรือแผนภูมิงานก่อสร้าง งานเหมืองแร่ หรือเพื่องานอื่นๆ โดยการกำหนดสถานที่ตั้ง และวาดภาพแสดงลักษณะภูมิประเทศรวมถึงการสำรวจบริเวณพื้นดินและท้องน้ำ การสำรวจบริเวณทะเล และเหมืองแร่ และการสำรวจประเภทอื่นๆ เป็นผู้ช่วยนักสำรวจเกี่ยวกับการใช้ และดูแลรักษาเครื่องมือต่างๆ ในขณะปฏิบัติงาน ช่วยแปลข้อมูลที่ได้จากงานสนาม และทำงานอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน
ลักษณะของงานที่ทำ

  1. ควบคุม และทำการสำรวจพื้นดิน และท้องน้ำ เพื่อการทำแผนที่หรือแผนภูมิ งานก่อสร้าง งานเหมืองแร่ หรืองานอื่นๆ โดยกำหนดสถานที่ตั้ง
  2. วาดภาพแสดงลักษณะภูมิประเทศ ตรวจสอบบันทึก แผนที่ แผนผัง โฉนด และเอกสารที่เกี่ยวข้องตลอดจนทำการคำนวณเบื้องต้น ซึ่งจำเป็นสำหรับงานสำรวจ
  3. ตรวจสอบ และปรับกล้องรังวัด หรือกล้องทำแผนที่เข็มทิศ โต๊ะสำรวจ และเครื่องมือสำรวจอื่นๆ
  4. สำรวจ และสั่งงานผู้ช่วย เพื่อให้การปฏิบัติงานตรงตามสถานที่ที่กำหนด และเพื่อความแน่นอนเกี่ยวกับการวัดระหว่างจุดต่างๆ ความสูงชัน เส้นและมุม ความสูงต่ำของพื้นดิน และข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นผิวดิน พื้นที่ใต้ดิน และพื้นที่ใต้ท้องน้ำ
  5. ทำการคำนวณเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่วัดได้
  6. บันทึกการใช้มาตรการต่างๆ และการคำนวณ รวมทั้งการเขียนแบบร่างพื้นที่บริเวณที่ทำการสำรวจ
  7. จัดทำแบบวาดโดยละเอียด และทำรายงาน

สภาพการจ้างงาน

ช่างสำรวจที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ไม่มีประสบการณ์จะได้รับเงินเดือนโดยประมาณดังนี้

วุฒิการศึกษา

ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
เงินเดือน
ราชการเอกชน
4,7004,500-5,500
5,7405,500-6,500

สำหรับงานเอกชนนั้น อัตราเงินเดือนขึ้นอยู่กับความสามารถ ความชำนาญงาน และวุฒิการศึกษาของแต่ละบุคคล นอกเหนือจากเงินเดือน และค่าจ้างประจำแล้ว อาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่นในรูปของสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร โบนัส บำเหน็จ บำนาญ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด หรือต้องทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานติดตั้งหรือซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้ทันการใช้งาน

สภาพการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ทำงานทั้งใน และนอกสถานที่ทำงานในการสำรวจสภาพสถานที่ที่ ได้รับมอบหมายให้ทำการสำรวจ อาจต้องปีนป่ายในที่สูงหรือบุกป่าฝ่าดง ทำงานตากแดดหรือฝน ต้องแบกอุปกรณ์ในการสำรวจ เช่น กล้องรังวัด เข็มทิศ ต้องคิดคำนวณ สภาพการทำงานหนักปานกลาง ต้องใช้ ความอดทนต่อสภาพความร้อน และบางโอกาสทำงานตามลำพัง ต้องใช้ความระมัดระวัง และรอบคอบสูงพอสมควร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และบางครั้งต้องทำงานเกินเวลาต้องปฏิบัติงานทั้งในสำนักงาน และกลางแจ้ง รวมทั้งอาจจะต้องประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่องานการสำรวจ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ มีดังนี้

  1. สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
  2. มีร่างกายแข็งแรง สามารถทำงานหนักได้
  3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณ และงานทดลอง
  4. มีความเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ดี
  5. มีความเชื่อมั่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
  6. มีความละเอียดรอบคอบ ชอบการบันทึก
  7. สามารถวิเคราะห์ และตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานได้

ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังนี้คือ: ผู้สนใจประกอบอาชีพนี้ในระดับช่างฝีมือต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) สาขาวิชาช่างสำรวจจากสถานศึกษาสังกัดกรม อาชีวศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือ สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างสำรวจจากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสาขาวิชาช่างกลโรงงานจากสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลสำหรับผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และเข้ารับการฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเป็นเวลา 10 เดือน และส่งไปฝึกงานในสถานประกอบการ 4 เดือน รวมระยะเวลาฝึกทั้งหมด 14 เดือน จึงจะได้รับวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน (วพร.) แนวการฝึกเน้นภาคปฏิบัติ 70% ความรู้ความสามารถที่ จำเป็น ได้แก่ อ่านแบบ เขียนแบบก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง อาคารขนาดเล็ก การสำรวจรังวัด หลักการบริหารงานก่อสร้าง การประมาณราคาและการปฏิบัติงานควบคุมงานก่อสร้างทั้งในห้องเรียน โรงฝึกงานและออกฝึกในสถานการณ์จริงบริเวณสถานที่ก่อสร้าง

โอกาสในการมีงานทำ

สำหรับแหล่งจ้างงานช่างสำรวจโดยทั่วไป ได้แก่ สถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่าภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ทำให้การลงทุนเพื่อขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมชะงักไป แต่ความต้องการแรงงานทางด้านช่างสำรวจยังคงมีอยู่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังมีงานที่ต้องการช่างสำรวจอีกมาก เช่น โครงการสร้างถนน หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมทั้งงานการก่อสร้างอาคารต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาจากการชะงักในช่วงภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ

เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะกลับฟื้นตัว และขยายการลงทุนขึ้นอีก ฉะนั้น งานช่างสำรวจก็ยิ่งกลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีกมากขึ้นตามอัตราการขยายตัวของสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

ผู้ประกอบอาชีพช่างสำรวจที่มีประสบการณ์และความชำนาญ จะได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปจนถึงระดับหัวหน้างาน และสำหรับผู้ที่สนใจที่จะศึกษาต่อเพื่อปรับ วิทยฐานะให้สูงขึ้น เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไป มีแนวทางในการศึกษาต่อ ดังนี้

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือหรือ ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี ต่อเนื่อง 3-4 ปีครึ่ง สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 2-3 ปี สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

Powered by MakeWebEasy.com