จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะหาได้ในปัจจุบัน ระบุว่าศาสตร์ของการสำรวจได้เริ่มขึ้นในประเทศอียิปต์ Herodotus กล่าวว่า Sesostris (ประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้แบ่งที่ดินของประเทศอียิปต์ออกเป็นผืน ๆ เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี แต่บางส่วนของที่ดินที่อยู่ตามฝั่งแม่น้ำไนท์ถูกน้ำท่วมชะหายไปทุกปี จึงได้มีการมอบหมายหน้าที่ในการสำรวจซ่อมแซมหลักเขตที่ดินให้แก่นักสำรวจซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ผู้ขึงเชือก” (rope stretcher) นักสำรวจสมัยนั้นใช้เชือกซึ่งทำเป็นปุ่มเอาไว้แล้วแบ่ง 12 ช่วง ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ให้ช่วงแรกยาว 3 ปุ่ม ช่วงที่สองยาว 4 ปุ่ม และช่วงที่สามยาว 5 ปุ่ม ดังนั้นเชือกนี้สามารถใช้ในการวัดระยะทางและออกฉากโดยใช้หลัก 3-4-5 นอกจากเชือกแล้วยังพบไม้ที่ใช้สำหรับวัดระยะทางด้วย ณ ที่ฝังศพ (tomb) ที่เมือง Thebes ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีผู้มาพบภาพเขียนบนฝาผนังแสดงถึงคนสองคนถือเชือกกำลังวัดระยะในทุ่งธัญญพืชอยู่
ต่อมาชาวกรีกได้พัฒนาวิชาเรขาคณิต (geometry) ขึ้น ชื่อนี้มาจากศัพท์กรีก geo ซึ่งแปลว่าดิน กับคำว่า metry ซึ่งแปลว่าการวัด ซึ่งจะเห็นว่าวิชานี้ได้พัฒนามาจากการวัดที่ดินนั่นเอง แต่ชาวกรีกเป็นนักคิดไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ ดังนั้นชาวกรีกจึงได้มีนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากมาย ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ก็ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากในยุคนี้ แต่ความรู้ในด้านการสำรวจไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นเท่าที่ควร มีเครื่องมือสำรวจที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ประดิษฐ์โดย Heron ซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง Alexandria ระหว่าง 150-100 ก่อนคริสต์ศักราช ชื่อว่า diopter ซึ่งได้อธิบายวิธีใช้เครื่องมือในหนังสือ “The Dioptra” ซึ่งกล่าวถึงการสำรวจพื้นที่ การเขียนแบบแปลน และการคำนวณต่าง ๆ ผลงานของ Herson ได้ถูกใช้อ้างอิงโดยนักสำรวจชาวกรีกและชาวอียิปต์ต่อมาเป็นเวลาหลายปี
ศิลปในการรังวัดได้ถูกพัฒนาอย่างจริงจังโดยชาวโรมัน ซึ่งเป็นนักปฏิบัติหนังสือเกี่ยวกับการสำรวจที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในระยะนั้น ได้แก่หนังสือที่แต่งโดย Frontinus แม้ว่าต้นฉบับได้สูยหายไปแต่ฉบับที่ได้คัดลอกมาก็ได้รับการดูแลรักษาเอาไว้ Frontinus มีชีวิตอยู่ในคริสต์สักราชที่ 1 เป็นผู้บุกเบิกในงานสำรวจยุคนี้และผลงานของเขาได้ถูกยึดถือเป็นมาตรฐานโดยชนรุ่นหลังเป็นเวลาหลายปี
ความสามารถในด้านวิศวกรรมของชาวโรมันได้แสดงออกให้เห็นทางสิ่งก่อสร้างซึ่งได้ถูกก่อสร้างขึ้นมากมายทั่วราชอาณาจักร การสำรวจในระยนี้มีความสำคัญมากถึงขนาดได้มีการรวมกลุ่มเป็นชมรมนักสำรวจ (surveyor’s guild) ขึ้น
ในยุคกลาง (Middle Ages) ระหว่างคริสต์ศักราชที่ 1000 และ 1400 ซึ่งความเจริญได้ย้ายมาอยู่ในชุมชนชาวอาหรับ ศาสตร์ของการสำรวจได้มีการพัฒนาน้อยมาก
ในศตวรรษที่ 13 Von Piso ได้เขียนหนังสือชื่อ “Practica Geometria” ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจอยู่ด้วย นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือ Liber Quardratorum ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า quadrans ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมกรอบทำด้วยทองเหลืองบนแท่งสี่เหลี่ยมจะมีมุมฉากและมาตราส่วนอย่างอื่นหมายเอาไว้ เครืองมือสำรวจชนิดอื่น ๆ ที่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยนี้กีมี astrolabe ซึ่งเป็นแผ่นโลหะกลมมีเข็มชี้ติดอยู่ตรงกลางและมีห่วงสำหรับมือยึดถือยึดต่อไว้ทางด้านบนของเครื่องมือ (ตามประวัติเครื่องมือชนิดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาก่อนโดยชาวกรีกเมื่อคริสต์ศักราชที่ 2 ซึ่งใช้สำหรับวัดหามุมของดวงดาวซึ่งทำกับแนวขอบฟ้า)
ในศตวรรษที่ 18 และ 19 ศิลปการสำรวจได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ความจำเป็นในการทำแผนที่และการกำหนดเส้นเขตแดนของประเทศทำให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจในพื้นที่กว้างขวางและจำเป็นต้องมีการวางโครงข่ายสามเหลี่ยม (Triangulation) geodetic surveying จึงได้ถือกำเนิดมา การที่มูลค่าที่ดินได้สูงขึ้นและความจำเป็นในการกำหนดขอบเขตให้แน่นอน ประกอบกับสังคมโดยทั่ว ๆ ไปเจริญขึ้น มีการสร้างถนนหนทางที่ทันสมัย รวมทั้งการสร้างทางรถไฟและมีการขุดคลอง ทำให้การสำรวจมีความสำคัญเด่นขึ้นมากขึ้นในระยะนี้
ปัจจุบันการสำรวจได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเครื่องมือในการสำรวจได้รับการประดิษฐ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมากมายในสมัยนี้