ชนิดของการสำรวจ

ชนิดของการสำรวจสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. การสำรวจที่ดิน(Land Surveying) อาจแบ่งย่อย ๆ ได้อีก

  • การสำรวจที่ดิน(Land Surveying) เป็นการสำรวจเพื่อกำหนดขอบเขตที่แน่นอนของที่ดินที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ การคำนวณพื้นที่ การสำรวจวิธีนี้เป็นวิธีเก่าแก่ชนิดหนึ่ง
  • การรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน (Cadastral Surveying) หรือการสำรวจเฉพาะแปลงที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการสำรวจที่ดินในเมืองและในที่ชนบท เพื่อวัตถุประสงค์ในการกำหนดแนวเขตและรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างถูกต้อง ตามสิทธิการครอบครอง เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน งานด้านการสำรวจนี้หมายถึง การสำรวจที่ดินของรัฐ เขตของเทศบาล การที่รัฐจะออกโฉนดที่ดินให้ได้นั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฏหมายอยู่มาก
  • การสำรวจเพื่อวางผังเมือง (City Surveying) เป็นการสำรวจเพื่อวางผังสิ่งต่างๆ ในบริเวณเมือง เช่น การจัดแบ่งที่ดินออกเป็นเขต (zone) ต่าง ๆ การวางถนน การวางท่อประปา ท่อระบายน้ำ ฯลฯ
  • ในปัจจุบันคำว่า city surveying มีความหมายกว้างออกไปรวมถึงการรังวัดพื้นที่ในตัวเมืองหรือใกล้ตัวเมือง เพื่อวางหมุดหลักเขตที่แน่นอน กำหนดเขตที่แน่อนและหารูปร่างลักษณะของพื้นดินศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อการวางผังเมือง

2. การสำรวจเพื่อการก่อสร้าง (Construction Surveying)

เป็นการสำรวจที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ในข้อนี้รวมหมายถึงงานสำรวจชนิดต่าง ๆ ที่วิศวกรและสถาปนิกเกี่ยวข้องด้วย
  • การสำรวจเส้นทาง (Route Surveying) เป็นการสำรวจเพื่อวางแนวทางสำหรับงานด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อประโยชน์ทางด้านขนส่งหรือการคมนาคม เส้นทางในที่นี้หมายถึงทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ คลองทางระบายน้ำ ท่อประปา และการวางสายศักย์ส่งสูง
  • การสำรวจเหมืองแร่ (Mine Surveying) มีความจำเป็นต่อการกำหนดตำแหน่งของงานทำเหมืองใต้ดิน หรือบนดินทั้งหมด โดยอาศัยหลักการของการสำรวจที่ดิน สำรวจภูมิประเทศ สำรวจแนวทาง ทั้งนี้เพื่อกำหนดตำแหน่งและทิศทางของอุโมงค์ ปล่อง และกำหนดอาณาเขตที่แน่นอน ตามสิทธิครอบครอง ตามคำขอเพื่อประกอบกิจการ

3. การสำรวจเพื่อทราบรายละเอียด (Information Surveying)

การสำรวจส่วนมากมีความมุ่งหมายเพื่อทำแผนที่และแผนภูมิ โดยเฉพาะกำหนดหมุดบังคับต่าง ๆ ซึ่งแยกกันอยู่บนผิวดิน การสำรวจดังกล่าวอำนวยประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในหลาย ๆ ด้าน คือ การจัดที่ดินของรัฐ การจัดทำแผนที่บริเวณป่าสงวน การทำแผนที่จำแนกประเภทที่ดิน ป่าไม้ การทำแผนที่เส้นทางเดินเรือบริเวณชายฝั่งทะเล แม่น้ำ การทำแผนที่แสดงทรัพยากรธรณีในที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ทำแผนที่ประเทศ
  • การสำรวจภูมิประเทศ (Topographic Surveying) เป็นการสำรวจลักษณะของภูมิประเทศเพื่อทำแผนที่ภูมิประเทศ (topographic map) ซึ่งการสำรวจชนิดนี้เป็นการหาลักษณะความกว้างยาวและสูงต่ำ (3 มิติ) ของภูมิประเทศ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นแล้วแทนความสูงต่ำของภูมิประเทศเหล่านั้นด้วยเครื่องหมายแทนความสูง (relief representation) คือเส้นชั้นความสูง(contour) เส้นลายขวานสับ (hachures) การแรเงา (shading) การเน้นเส้นให้หนัก (form lines) การแยกสี (coloring) และภาพจำลอง (models)
  • การสำรวจทางอุทกศาสตร์ (Hydrographic Surveying) มีความจำเป็นต่อการทำแผนที่ชายฝั่งทะเล พื้นที่เบื้องล่างของท้องคลอง ทะเลสาบ ท่าเรือ ลักษณะบนริมฝั่งทะเล วัดความเร็วของกระแสน้ำ ปริมาณของน้ำที่ไหลมาต่อเวลาหนึ่ง ๆ ระดับน้ำสูงขึ้นสูงสุดหรือลงต่ำสุด ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือ การประปา แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการก่อสร้างเขื่อน ฝายขวางลำน้ำ เป็นต้น
  • การสำรวจทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ (Aerial Surveying or Photogrammetry) เป็นการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ วิธีการแบบนี้นับเป็นก้าวใหม่ในการสำรวจทำแผนที่ ซึ่งอำนวยประโยชน์ให้หลายประการและหลาย ๆ ด้านของการสำรวจที่กล่าวมาแล้ว สามารถทำแผนที่ได้อย่างรวดเร็ว และในบริเวณกว้าง วิธีการแบบนี้ทำได้โดยการถ่ายภาพด้วยกล้องชนิดที่ออกแบบพิเศษ โดยถ่ายจากเครื่องบินหรือจากจุดหนึ่งจุดใดบนพื้นดิน เมื่อได้รูปถ่ายมาแล้วก็นำรูปถ่ายนั้นมาทำเป็นภาพถ่ายต่อ (mosaic) หรือนำภาพถ่ายเหล่านี้มาเขียนเป็นแผนที่ โดยใช้เครื่องเขียนแผนที่จากภาพถ่ายหรือใช้ในการแปลภาพถ่ายก็ได้


Plane Surveying

การสำรวจพื้นราบจะสมมติให้พื้นผิวเฉลี่ยของผิวโลกเป็นแผ่นราบ จะไม่คิดว่าโลกเป็นรูป Spheroid เส้นระดับ (Level line) สมมติให้เป็นเส้นตรง ทิศทางของเส้นดิ่งจะตั้งได้ฉากกับ Level line ทุกจุดและทุกมุมนั้นถือว่าเป็น Plane Angle หมด
การสำรวจเพื่อกำหนดเส้นทางและเพื่อการก่อสร้างถนนหลวง ทางรถไฟ คลอง และงานสำรวจที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของมนุษย์อื่น ๆ เป็นการสำรวจแบบ plane surveying แทบทั้งสิ้น อย่างเช่น การสำรวจเพื่อกำหนดขอบเขตที่ดินหรือทรัพย์สิน เป็นต้น

Geodetic Surveying

การสำรวจขั้นสูงนี้ เป็นการสำรวจเพื่อให้ได้รูปร่างจริงของโลก ซึ่งการสำรวจจะใช้หลักการของวิชา Geodesy ให้ความถูกต้องสูง การสำรวจขั้นนี้จะเป็นการสำรวจครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศ ซึ่งต้องคิดรูปโลกเป็นรูป Spheroid แต่ถ้าพื้นที่เล็ก ๆ จะคิดว่าโลกเป็นรูปทรงกลม (Sphere) วัตถุประสงค์ของการสำรวจขั้นนี้ก็เพื่อที่จะหาจุดที่ถูกต้องที่สุดบนพื้นโลก ซึ่งมีความสำคัญในการที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงที่มีความละเอียดสูง สำหรับงานสำรวจที่ต่ำรองลงไป
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การสำรวจชั้นนี้จะคิดความโค้งของโลกด้วย เช่น ถ้าวัดระยะตามความโค้งของโลกได้ยาว 18.5 กิโลเมตร ความโค้งจะยาวกว่าคอร์ดเท่ากับท 0.007 เมตรเท่านั้น และผลต่างระหว่างผลรวมมุมภายในสามเหลี่ยมราบกับผลรวมของมุมภายในสามเหลี่ยมโค้งซึ่งมีเนื้อที่ 196 ตารางกิโลเมตร จะเท่ากับ 1 ฟิลิปดา ค่าระดับหรือ Elevation จะอ้างอิงจากผิว Spheroid เพราะเราสมมติให้ผิว Spheroid แทนด้วยระดับน้ำทะเลปานกลาง การทำแผนที่จะต้องทอนระยะลงบนผิวของ Spheroid เพื่อให้ได้แผนที่ต่อเนื่องกันไปได้
Powered by MakeWebEasy.com